วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

สาระการเรียนรู้

ความสำคัญของการปลูกพืชผัก
ผักเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก ประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้อาจมีการปลูกพืชต่าง ๆ กันเพื่อเป็นอาหารหลัก บางประเทศปลูกข้าวเป็นอาหาร แต่บางประเทศปลูกข้าวโพด ข้าวสาลี หรือมันฝรั่ง มันสำปะหลัง เพื่อเป็นอาหาร แต่พืชที่ทุก ๆ ประเทศต้องปลูกเพื่อการบริโภคเป็นอาหาร อย่างขาดไม่ได้เลยคือ พืชผัก เพราะพืชผักมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ตามปกติ บางประเทศมีการปลูกผักในพื้นที่กว้าง และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล ประเทศปลูกผักที่สำคัญของโลกได้แก่ อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สเปน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีการปลูกผักเพื่อการบริโภค และมีการส่งพืชผักบางชนิด อาทิเช่น ข้าวโพดฝักอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น


การจำแนกพืชผัก
การจำแนกพืชผักออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ นั้น มีประโยชน์ในการใช้เรียกหา เพื่อให้เป็นสากลที่ทุกประเทศยอมรับ เข้าใจกันในการติดต่อสื่อสารกัน เพื่อให้ทราบแหล่งกำเนิดที่มา ทราบถึงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ทราบอุปนิสัยการเจริญเติบโต สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเจริญเติบโต และทราบถึงส่วนของลำต้นที่นำใช้ประโยชน์ เป็นต้น

การจำแนกพืชผักจึงแยกได้หลายลักษณะ ในที่นี้จะแยกเพียง 2 ลักษณะ
1. การจำแนกพืชผักตามอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต การแบ่งกลุ่มพืชผักตามอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตจะทำให้เราสามารถเลือกฤดูกาลปลูก หรือสถานที่ปลูกที่เหมาะสมในการปลูกผักแต่ละชนิดได้
1.1 ชนิดพืชผักที่ชอบอากาศเย็น เป็นกลุ่มผักที่เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศอยู่ที่ 16-18 องศาเซลเซียส พืชผักในกลุ่มนี้จึงเหมาะที่จะปลูกในฤดูหนาว หรือพื้นที่สูงที่มีอากาศเย็นกว่าพื้นที่ราบ ทุก ๆ ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100 เมตร อุณหภูมิจะลดลง 1 องศาเซลเซียส พืชผักกลุ่มนี้ได้แก่ บร๊อคโคลี่ กะหล่ำดอก กะหล่ำดาว กะหล่ำปลี กะหล่ำปม ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหอม แครอท หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า กระเทียม คื่นฉ่าย ผักกาดหัว หอมหัวใหญ่ ปวยเล้ง ถั่วลันเตา เทอร์นิพ อองดิฟ พาร์สเล่ย์ พาร์สนิป ชาด เซลอรี่ เฟนเนล มันฝรั่ง ฯลฯ
1.2 ชนิดพืชผักที่ต้องการอากาศอบอุ่น เป็นกลุ่มผักที่เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 18-30 องศาเซลเซียส พืชผักในกลุ่มนี้ได้แก่ แตงกวา แตงไทย มะเขือเทศ มะเขือยาว พริก พริกยักษ์ ฟักทอง มะระ บวบ น้ำเต้า ฟักเขียว ถั่วเขียว ข้าวโพดฝักอ่อน

2. การแบ่งกลุ่มพืชผักตามส่วนของการใช้ประโยชน์
                2.1 ราก ได้แก่ ผักกาดหัว แครอท หัวผักกาดแดง เทอร์นิพ พาร์สนิป มันเทศ มันสำปะหลัง
                2.2 ลำต้น ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง หน่อไม้ไผ่ตง กะหล่ำปม มันฝรั่ง เผือก กลอย มันมือเสือ ผักบุ้ง
                2.3 ใบ ได้แก่ คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักกวางตุ้ง ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหอม หอมหัวใหญ่  กระเทียมหัว กระเทียมต้น หอมแดง กุยช่าย
                2.4 ดอก ได้แก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก ดอกโสน ดอกแค
                2.5 ผล ได้แก่ ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วเหลืองฝักสด ข้าวโพดหวาน กระเจี๊ยบ แตงกวา แตงเทศ มะระ ฟักเขียว ฟักทอง พริก พริกหวาน มะเขือเทศ มะเขือยาว ฯลฯ

การจัดการดินและการเตรียมแปลงปลูกพืชผัก
                การจัดการดิน
                ผักส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุค่อนข้างสั้น มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว จึงต้องการธาตุอาหารอย่างมากจากดินที่ปลูก

                การเตรียมแปลงปลูกผัก
                ในพื้นที่เปิดใหม่ หรือที่ไม่ได้มีการทำการเกษตรมาก่อน หรือแม้แต่พื้นที่ที่ปลูกพืชมานาน จนโครงสร้างของดินแน่นทึบ ก็จำเป็นต้องมีการไถพลิกดินขึ้นมาทำการย่อยดินให้ร่วนโปร่ง ลักษณะของแปลงปลูกผักที่เหมาะสมขึ้นกับสภาพพื้นที่ ในพื้นที่ลุ่มเขตภาคกลางของประเทศ เช่น นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร เพื่อการระบายน้ำที่ดี และความสะดวกในการให้น้ำ นิยมยกร่องกว้างและลึก แบบที่เรียกว่า ร่องจีน

การเพาะเมล็ดและเตรียมกล้าผัก
                ในอดีตการปลูกผักนิยมทั้งวิธีการหว่านเมล็ดลงในแปลง และการเพาะเมล็ดลงในแปลงเพาะ ก่อนทำการย้ายกล้า แต่ในปัจจุบันมีการผลิตพันธุ์พืชดีออกมาใช้ ซึ่งเมล็ดมีราคาแพงมาก แต่มีคุณภาพดี ดังนั้นการปลูกจึงได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการเพาะกล้าก่อน แล้วจึงทำการย้ายกล้าที่แข็งแรงดีแล้วนั้นลงสู่แปลงปลูกอีกที ซึ่งวิธีนี้ช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ และยังได้ต้นพืชที่แข็งแรง สม่ำเสมอกัน


การดูแลรักษาแปลงผัก
                การให้น้ำ
                ผักเป็นพืชอวบน้ำ จึงต้องการน้ำมาก ถ้าขาดน้ำ ผักจะเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวันที่อากาศร้อนและมีลมแรง ซึ่งชักนำให้พืชต้องคายน้ำมากเป็นพิเศษ ผักจะชะงักการเจริญเติบโต ถ้าผักได้รับน้ำไม่เพียงพอ ผลผลิตจะลดลงอย่างมาก ในระยะแรกเมื่อผักยังเล็ก จะต้องการน้ำไม่มากนัก

                แปลงผักยกร่องกว้างแบบร่องจีน
                - ในที่ราบลุ่มภาคกลาง การให้น้ำกระทำโดยวิดน้ำจากท้องร่องขึ้นมาราดบนสันแปลงปลูกผัก
                แปลงปลูกบนที่ดอนแบบยกร่อง
                - การให้น้ำสามารถกระทำได้โดยปล่อยน้ำเข้าท่วมร่องแล้ว ให้น้ำซึมเข้าสู่ด้านข้างแปลงทั้งสองด้าน

แปลงปลูกแบบไม่ยกร่องบนที่ดิน กระทำได้ 2 วิธีคือ
                1. แบบฉีดพ่นฝอยเหนือหัว ที่เรียกว่า สปริงเกอร์ ด้วยการวางท่อน้ำเข้าไปในแปลงปลูก และจะมีท่อตั้งขึ้นมา ความสูงแล้วแต่ขนาดความสูงของผัก ที่ปลายสุดของท่อจะเป็นหัวจ่ายน้ำ ด้วยแรงดันของน้ำที่พ่นออกมากระทบแผ่นกระจายน้ำ สายน้ำจะถูกทำให้กระจายตัวออกเป็นฝอย พ่นออกครอบคลุมพื้นที่ส่วนหนึ่ง ซึ่งขึ้นกับแรงดันน้ำ และลักษณะของหัวจ่าย
                2. แบบน้ำหยด เป็นการวางท่อน้ำเข้าไปในแปลงปลูกเช่นเดียวกัน แต่ท่อจะมีขนาดเล็กกว่า และวางชิดกับต้นพืชมากกว่า เมื่อผ่านต้นพืชแต่ละต้นจะมีรูเปิดเล็ก ๆ หรือท่อย่อยยื่นออกมายังโคนต้นพืช เพื่อปล่อยน้ำให้หยดลงใกล้กับโคนต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ของราก วิธีนี้ประหยัดน้ำมากที่สุด

                การให้ปุ๋ยแก่พืชผัก
ปุ๋ยที่ใช้ในการปลูกผัก แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ
                1. ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์จะมีธาตุอาหารที่พืชต้องการครบถ้วน และมักจะมีอยู่ในปริมาณค่อนข้างมาก
                2. ปุ๋ยอนินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยเคมีชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันดินปลูกผักมักขาดความอุดมสมบูรณ์ลง การใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวจะปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับผักไม่ทันใช้ จึงต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มให้กับผัก





                การให้ปุ๋ยพืชผักในโรงเรือน
                 ในต่างประเทศที่มีการปลูกผักในโรงเรือนและมีการให้น้ำไปตามท่อน้ำหยด จะมีระบบการผสมปุ๋ยที่อยู่ในรูปสารละลาย ให้ผสมไปกับน้ำในอัตราที่เหมาะกับระยะการเจริญเติบโตของผักไปพร้อม ๆ กัน ปุ๋ยดังกล่าวจะถูกละลายน้ำเตรียมไว้ในลักษณะที่มีความเข้มข้นสูง และมักแยกเป็นถังอย่างน้อย 2 ถัง เนื่องจากธาตุอาหารบางตัวเมื่ออยู่ในรูปที่เข้มข้น จะทำจับกันตกเป็นตะกอน จึงต้องแยกออกจากกัน จากถังเก็บน้ำปุ๋ยเข้มข้นมีท่อเชื่อมจากถังมายังระบบให้น้ำ และมีปั๊มที่จะดูดปุ๋ยจากแต่ละถังในปริมาณที่ต้องการมาผสมกับน้ำให้เจือจางลง และปล่อยไปตามท่อน้ำไปหยดลงที่ต้นผักโดยตรง

การตัดแต่งกิ่ง
                ผักบางชนิดที่มีลำต้นสูงและมีอายุยืน เช่น พริก มะเขือเทศ โดยเฉพาะที่ปลูกในโรงเรือน จะมีการตัดแต่งกิ่งบ้างเพื่อให้โปร่ง และตัดเอากิ่งและใบที่ไม่มีประโยชน์ออกไป ซึ่งได้แก่ กิ่งและใบด้านล่าง ซึ่งมีอายุมากแล้ว

การเก็บเกี่ยว
                การเก็บเกี่ยวผักกินใบมักจะดูจากอายุนับตั้งแต่ปลูก ส่วนผักกินผลนั้นขึ้นอยู่กับชนิด พริกและมะเขือเทศ สามารถดูได้จากสีผล หรือดูการเริ่มเปลี่ยนแปลงของสี ซึ่งจะบอกถึงการสุกแก่ของผัก
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
                ผักเป็นพืชที่อวบน้ำจึงบอบบาง ไม่ทนทานต่อแรงกระแทก การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติใด ๆ หลังการเก็บเกี่ยว ควรกระทำอย่างระมัดระวัง รวดเร็ว และมีน้อยขั้นตอนที่สุด จึงจะช่วยลดความเสียหายลงได้

เครื่องมือและอุปกรณ์ในการปลูกพืช
                เครื่องมือเกษตร หมายถึง อุปกรณ์ที่สร้างขึ้น เพื่อช่วยทุ่นแรง และอำนวยความสะดวกในการทำงาน เครื่องมือเกษตรที่ดี ควรมีลัษณะเหมาะสมกับประเภทของงานนั้น ๆ และอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ช่วยให้ทำการเกษตรมีประสิทธิภาพดี ทำได้รวดเร็วและได้ผลดียิ่งขึ้น
ประเภทของเครื่องมือเกษตร...แบ่งตามลักษณะของการใช้งานดังนี้
                1.เครื่องมือใช้กับงานดิน...เครื่องมือประเภทนี้ใช้สำหรับการทำงานเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับงานดินต่าง ๆ เช่น การเตรียมพื้นที่ การปรับปรุงดิน การผสมดิน มีดังนี้
                                - จอบ เป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการเตรียมดิน จะใช้จอบในการขุดดินยกแปลงปลูก
  พืชสมุนไพร จอบมี 2 ชนิดคือ
                1. จอบขุด หน้าจอบจะเว้าลึก ด้านข้างทั้งสองจะเรียวแหลมคม เพื่อให้ขุดลงไปในดินได้มากขึ้น จอบขุดมีลักษณะแข็งแรง มีน้ำหนักและความหนามากกว่าจอบชนิดอื่น ๆ ใช้สำหรับขุดดินที่มีความแข็งและเหนียว เช่น การขุดดินครั้งแรกของการเตรียมดินปลูก เพื่อพลิกหน้าดินหรือยกร่องแปลงปลูก
                2. จอบถาก หน้าจอบตัดตรงเสมอกัน มีน้ำหนักเบากว่าจอบขุด ใช้ในการถากหญ้าและผสมดิน นอกจากนั้นยังเหมาะที่จะใช้พรวนดินหรือย่อยดิน ภายหลังจากการขุดให้เป็นก้อนเล็ก ได้ดีอีกด้วย

                -เสียม เป็นเครื่องมืออีกอย่างที่ใช้ขุด แต่มักจะใช้ขุดดินที่ค่อนข้างลึกหรือขุดหลุมปลูกพืชหรือใช้พรวนดินให้เป็นก้อนเล็ก ๆ ก่อนการปลูกและใช้พรวนดินกำจัดวัชพืชภายหลังการปลูกพืชด้วย
                - พลั่ว พลั่วมี 2 ชนิดคือ
                                1. พลั่วหน้าแหลม ใช้สำหรับตักดิน ทราย หรือปุ๋ย
                                2. พลั่วหน้าตัดตรง ใช้สำหรับผสมดิน

                -ช้อนและส้อมพรวน เป็นเครื่องมือขนาดเล็ก ใช้ได้สะดวก ใช้ในการตักดิน ขุดดินปลูก พืชและใช้พรวนดินภายหลังการปลูกพืชเพื่อให้ดินร่วนซุย
ปุ้งกี๋ ใช้ในการขนดิน หรือปุ๋ย

                -คราด ใช้ในการลากวัชพืชที่ค้างอยู่ตามหน้าดิน และยังใช้ปรับระดับดินให้เรียบอีกด้วย

                -มีดดายหญ้า ใช้สำหรับดายหญ้าหรือถางหญ้าที่ขึ้นสูง ซึ่งไม่สามารถที่    จะใช้กรรไกรตัดหญ้าได้
    
                2. เครื่องมือใช้ในการให้น้ำ เครื่องมือประเภทนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการดูแลรักษาพืช เช่น การให้น้ำพืช การให้ปุ๋ยบางชนิด การให้สารเคมีรวมทั้งการให้ฮอร์โมนบางชนิดแก่พืช มีดังนี้
                                 2.1 อุปกรณ์จ่ายน้ำ ทำหน้าที่ในการจ่ายน้ำหรือกระจายน้ำให้กับพืช มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับความต้องการน้ำของพืชและแรงดันที่ใช้งาน โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ หัวจ่ายน้ำแบบหยด กับหัวจ่ายน้ำแบบสปริงเกลอร์
                                               2.1.1 อุปกรณ์จ่ายน้ำแบบหยด เป็นอุปกรณ์จ่ายน้ำให้พืชทีละน้อยๆ มีอัตราการจ่ายน้ำ 2 - 20 ลิตรต่อชั่วโมง ใช้แรงดันน้ำต่ำ ประมาณ 0.5 - 2 บาร์ และอุปกรณ์ให้น้ำแบบหยดยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามลักษณะการติดตั้งกับท่อจ่ายน้ำคือ
                                                            1.) ชนิดที่ติดตั้งบนท่อ (On Line Drippers) โดยแยกเป็นหัวๆ สามารถที่จะกำหนดระยะการติดตั้งเองได้ด้วยการเจาะท่อ แล้วนำหัวน้ำหยดชนิดนี้ไปติดตั้งโดยการเสียบลงไปในท่อพลาสติกพีอี หัวน้ำหยดจะยึดติดกับท่อโดยอัตโนมัติ ถ้าหากใช้ท่อพีวีซีเป็นท่อส่งน้ำก็จะมีหัวน้ำหยดชนิดที่มีที่เสียบเป็นแบบเกลียว สามารถขันเข้าไปในท่อพีวีซีที่เจาะรูด้วยสว่านเจาะรู นอกจากนี้ยังมีให้เลือกทั้งชนิดที่ปรับแรงดันน้ำได้ในตัวและชนิดที่ไม่สามารถปรับแรงดันน้ำได้แต่จะมีราคาถูกกว่า
                                           2.) ชนิดที่ติดตั้งภายในท่อ (In Line Drippers) เป็นลักษณะท่อที่ติดตั้งหัวน้ำหยดในตัวท่อโดยมีระยะห่างของหัวจ่ายน้ำคงที่ เช่น 20 เซนติเมตร ถึง 120 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะผลิตมาจากโรงงาน ไม่สามารถที่จะกำหนดระยะห่างของหัวหยดในภายหลังได้จึงเหมาะสำหรับพืชที่ปลูกเป็นแถวเช่น ผัก ข้าวโพด

                                2.2 อุปกรณ์จ่ายน้ำแบบสปริงเกลอร์ เป็นอุปกรณ์ให้น้ำที่ทำหน้าที่กระจายน้ำให้กับพืชคล้ายๆ ฝนตกโดยฉีดน้ำขึ้นไปบนอากาศแล้วตกลงมาที่ต้นพืช มีตั้งแต่ขนาดเล็กอัตราการให้น้ำตั้งแต่ 7 - 150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แรงดันใช้งานตั้งแต่ 1 - 10 บาร์ มีรัศมีการกระจายน้ำตั้งแต่ 1 - 50 เมตร ถ้าแบ่งชนิดของหัวสปริงเกลอร์ตามลักษณะของน้ำที่ฉีดออกมาสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
                                                            2.2.1 หัวพ่นหมอก (Mist) ลักษณะของน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากหัวจ่ายน้ำแบบนี้จะมีลักษณะเป็นละอองหมอกเล็กๆ อัตราการจ่ายน้ำน้อย ประมาร 7 ลิตรต่อชั่วโมง แต่ต้องการแรงดันในการใช้งานสูงอย่างน้อย 2 บาร์ขึ้นไปเพื่อทำให้น้ำที่ถูกพ่นออกมาเป็นละอองละเอียด ใช้ในการเพิ่มความชื้นให้กับอากาศ หรือใช้ในการระบายความร้อนได้ในโรงเรือนเพาะชำ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโรงเรือนปศุสัตว์เพื่อลดความร้อนของโรงเรือนได้ น้ำที่ใช้จะต้องมีความสะอาดมาก
                                                            2.2.2 หัวพ่นฝอย (Spray) เป็นหัวจ่ายน้ำที่ฉีดน้ำออกมาเป็นเม็ดน้ำ ซึ่งมีขนาดใหญ่และปริมาณน้ำการจ่ายน้ำมากกว่าแบบพ่นหมอก แต่แรงดันที่ใช้ต่ำกว่า มีรัศมีการกระจายน้ำประมาณ 1 - 2 เมตร สามารถเลือกมุมในการให้น้ำได้ เช่น 90, 180 และ 360 องศาในแนวราบ ตามลักษณะการปลูกพืชหรือแปลงปลูก น้ำที่ใช้จะต้องมีความสะอาดพอสมควร
                                                2.2.3 หัวมินิสปริงเกลอร์ (Mini Sprinklers) เป็นหัวกระจายน้ำที่มีลักษณะของเม็ดน้ำที่ฉีดออกมามีขนาดใหญ่ขึ้น อัตราการจ่ายน้ำ 50 - 350 ลิตรต่อชั่วโมง มีรัศมีการให้น้ำ 2 - 6 เมตร ใช้แรงดัน 1 - 3 บาร์ มีทั้งแบบติดตั้งบนท่อแขนงโดยใช้ท่อตั้ง (Riser) แยกขึ้นมาเหนือดินและแบบที่มีท่อเล็กๆ จ่ายน้ำจากท่อแขนงมายังหัวจ่ายน้ำ แบ่งออกเป็นสามลักษณะคือ
                                                          1) แบบมีใบพัดหมุนเหวี่ยงน้ำ ใบพัดจะทำหน้าที่หมุนเหวี่ยงน้ำให้กระจากไปรอบๆ หัวจ่ายน้ำโดยอาศัยแรงดันของน้ำเป็นตัวผลักดันให้ใบพัดหมุน
                                                          2) แบบใช้น้ำกระทบกับผนังด้านบน เป็นแบบที่อาศัยน้ำที่ถูกฉีดออกมาจากหัวฉีดแล้วกระทบกับผนังด้านบนแล้วแตกกระจายออก
                                                           3) แบบท่อเจาะรู เป็นท่อที่เจาะรูด้านบนและด้านข้างเพื่อให้น้ำฉีดออกมาได้
                                                 2.2.4 หัวสปริงเกลอร์ (Sprinklers) มีอัตราการจ่ายน้ำสูงมากกว่า 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป รัศมีการเปียกน้ำตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป ต้องการแรงดันในการทำงานตั้งแต่ 4 - 7 บาร์ มีลักษณะของหัวมากมายหลายแบบทั้งแบบที่ฉีดน้ำออกทางด้านหน้าด้านเดียว และแบบที่ฉีดน้ำออกทั้งสองข้างโดยด้านหน้าจะฉีดได้ไกลกว่าด้านหลัง ซึ่งโดยมากน้ำจะไม่ตกในบริเวณที่ติดตั้งหัวสปริงเกลอร์ จึงจำเป็นจะต้องมีการฉีดน้ำออกมาทางด้านหลังเพื่อช่วยแก้ปัญหาการกระจายน้ำให้ดีขึ้น
                                                            2.2.5 หัวสปริงเกลอร์สำหรับสนามหญ้า (Pop Up sprinklers) เหมาะสำหรับใช้กับสนามหญ้า ซึ่งจะไม่กีดขวางหรือเกะกะเนื่องจากหัวสปริงเกลอร์ชนิดนี้ จะถูกฝังไว้ในดินจะโผล่ขึ้นมาเหนือดิน เฉพาะขณะทำงานเท่านั้นตัวหัวสปริงเกลอร์จะเก็บอยู่ในกล่องมีฝาปิดอย่างดี การทำงานของหัวสปริงเกลอร์จะต้องอาศัยแรงดันของน้ำในการยกตัวของหัวขึ้นเหนือพื้นดินแล้วฉีดน้ำออกไป และเมื่อหยุดให้น้ำแรงดันของน้ำก็จะลดลงทำให้หัวสปริงเกลอร์พร้อมฝาปิดลดระดับลงและเข้าไปเก็บอยู่ในกล่องอย่างเดิม การเลือกใช้หัวสปริงเกลอร์สนามหญ้านั้นสามารถเลือกมุมการฉีดน้ำในแนวราบได้ บางรุ่นสามารถปรับองศาการฉีดน้ำให้เหมาะสมกับสภาพสนามหญ้าแต่ละแห่งได้

                2. ท่อ (Piping)
ทำหน้าที่ในการส่งน้ำจากแหล่งน้ำไปให้หัวจ่ายน้ำ โดยมีการเชื่อมต่อท่อด้วยข้อต่อชนิดต่างๆ ถ้าหากความยาวของท่อไม่เพียงพอ ท่อส่งน้ำมีหลายชนิดคือ
                                2.1 ท่อพีวีซี (PVC) เป็นท่อพลาสติก ยาวท่อนละ 4 เมตร ไม่ทนต่อแสงอุลตร้าไวโอเล็ต แตกหักได้ง่ายหากกระทบกระเทือนหรือโดนรถเหยียบ แบ่งตามชนิดการใช้งานได้ 3 ประเภทคือ
                                                            2.1.1 ท่อพีวีซีสีเทา ใช้ในงานส่งน้ำทางการเกษตรซึ่งไม่ต้องการแรงดันมากนำ มีความหนาของท่อน้อย
                                                            2.1.2 ท่อพีวีซีสีเหลือง ใช้ในงานร้อยสายไฟฟ้าทนต่อความร้อนและไฟได้ดี
                                                            2.1.3 ท่อพีวีซีสีฟ้า ใช้ในงานส่งน้ำประปาและการเกษตร มีความหนามากกว่าแบบอื่น ทนแรงดันได้ดีกว่า แบ่งออกเป็น 3 ชั้นคุณภาพ (Class) โดยจะมีความหนาและสามารถทนแรงดันได้แตกต่างกัน คือ
                                                          1) ชั้น 5 หมายถึงใช้งานที่แรงดัน 5 บาร์
                                                          2) ชั้น 8.5 หมายถึงใช้งานที่แรงดัน 8.5 บาร์
                                                          3) ชั้น 13.5 หมายถึงใช้งานที่แรงดัน 13.5 บาร์
                               2.2 ท่อเหล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหลายขนาดให้เลือกใช้ ผลิตจากเหล็กอาจจะอาบสังกะสีเพื่อป้องกันสนิม นอกจากนี้ยังมีชนิดที่ผลิตจากเหล็กหล่อ ท่อเหล็กจะทนแรงดันได้สูงมากจึงเหมาะสำหรับเป็นท่อส่งน้ำออกจากเครื่องสูบน้ำ
                                2.3 ท่ออลูมิเนียม ทนแรงดันได้สูง มีน้ำหนักเบาใช้เป็นท่อส่งน้ำสำหรับระบบให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทำให้ประหยัดท่อ
                              2.4 ท่อซีเมนต์ใยหิน ผลิตจากซีเมนต์ผสมกับใยหิน ทนแรงดันได้สูง มีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับเป็นท่อส่งน้ำที่ต้องการปริมาณน้ำมากๆ

                3.ข้อต่อ (Fitting) ข้อต่อที่ใช้สำหรับระบบประกอบไปด้วย ข้อต่อตรง ข้องอฉาก ข้อต่อสามตาฉาก ข้อลด สามตาลด ข้อโค้ง เลือกใช้ตามมุมโค้งที่ต้องการ ซึ่งอาจจะใช้ข้อต่อตามชนิดของวัสดุที่ผลิตท่อก็ได้หรืออาจจะใช้ผสมกันตามความเหมาะสมก็ได้

                4.เครื่องสูบน้ำและต้นกำลัง (Pumping) ทำหน้าที่สูบน้ำและเพิ่มแรงดันให้กับระบบ มีหลายประเภทแยกตามหลักการทำงาน เช่น เครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่ง เครื่องสูบน้ำแบบปั้มชัก เครื่องสูบน้ำแบบเจ็ตปั้มและเครื่องสูบน้ำแบบโรตารี่ ต้นกำลังที่ใช้อาจจะเป็นเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้า การเลือกใช้เครื่องสูบน้ำที่ดีจะต้องพิจารณาถึงอัตราการสูบน้ำหรือความสามารถในการสูบน้ำต่อระยะเวลา ซึ่งจะต้องเพียงพอต่อความต้องการน้ำของหัวจ่ายน้ำในการเปิดน้ำแต่ละครั้ง และจะต้องพิจารณาถึงแรงดันสูงสุดหรือแรงดันใช้งานที่เครื่องสูบน้ำสามารถส่งน้ำไปได้ ทั้งนี้เพื่อให้อัตราการจ่ายน้ำของหัวจ่ายน้ำเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและมีรัศมีการฉีดตรงตามที่ออกแบบ

                5. เครื่องกรองน้ำสำหรับการเกษตร (Filters) ทำหน้าที่ในการกรองน้ำหรือขจัดสิ่งสกปรกที่ติดมากับน้ำก่อนที่จะส่งเข้าระบบให้น้ำพืช การเลือกใช้เครื่องกรองน้ำจะต้องพิจารณาถึงวัสดุที่ใช้ในการกรอง อัตราการกรองน้ำสูงสุด ความดันที่ต้องการและความดันที่สูญเสียจากการกรอง ที่สำคัญคือความละเอียดในการกรอง ซึ่งระบบให้น้ำแบบหยดแนะนำให้ใช้ความละเอียดของวัสดุกรอง ตั้งแต่ 120 เมชขึ้นไป ส่วนการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ควรใช้วัสดุกรองที่มีความละเอียดตั้งแต่ 80 เมช มีข้อแนะนำว่าขนาดของอนุภาคที่ยอมให้ผ่านเครื่องกรองได้นั้น จะต้องมีขนาดเล็กกว่ารูหรือช่องของหัวปล่อยน้ำไม่น้อยกว่า 10 เท่า เพราะอนุภาคทั่ว ๆ ไป อาจก่อตัวกันเป็นกลุ่มและขวางทางน้ำออกได้ เครื่องกรองน้ำมีหลายประเภทสามารถแยกตามวัสดุที่ใช้ในการกรองได้ คือ
                                5.1 เครื่องกรองแบบตะแกรงลวด ลักษณะของไส้กรองจะเป็นตะแกรงลวด ตะแกรงดังกล่าวอาจจะทำด้วยลวดทองเหลือง หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่เป็นสนิมและมีความทนทาน เช่นพวกไนล่อนและเหล็กไร้สนิม เป็นต้น รูที่เกิดระหว่างลวดในตะแกรงเรียกว่า ช่องเปิด และเป็นสิ่งที่ใช้กำหนดชนิดความละเอียดของตะแกรง คือ นับจำนวนช่องเปิดต่อความยาวของตะแกรง 1 นิ้ว เช่น ตะแกรงเบอร์ (เม็ช) 120 หมายถึงในความยาว 1 นิ้วนั้นจะมีรูเรียงกันอยู่ 120 รู เครื่องกรองแบบตะแกรงเหมาะที่จะใช้กับน้ำผิวดินที่ค่อนข้างสะอาด หรือน้ำจากบ่อบาดาลเท่านั้น เครื่องชนิดนี้อาจจะติดตั้งที่ทางเข้าท่อประธานหรือท่อประธานย่อย และบางครั้งก็ต้องใช้เครื่องกรองแบบนี้รวมกันในชุดเครื่องกรองชนิดอื่น ๆ
                                5.2 เครื่องกรองแบบแผ่นพลาสติก ลักษณะของไส้กรองจะเป็นแผ่นพลาสติกบางๆ หลายๆ แผ่นประกบกันอยู่และอัดแน่นด้วยสปริงและตัวเรือนของเครื่องกรองเอง ไส้กรองสามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึงและง่ายกว่าแบบตะแกรงปัจจุบันจึงเป็นที่นิยมใช้กันมากกว่าแบบตะแกรง
                                5.3 เครื่องกรองแบบถังทราย ใช้ทรายเป็นวัสดุในการกรองเครื่องกรองแบบนี้สร้างขึ้นเพื่อขจัดอนุภาคขนาดละเอียดที่สามารถผ่านเครื่องกรองแบบตะแกรงได้ มีประสิทธิภาพในการกรองมากในการกำจัดอินทรียวัตถุและตะไคร่น้ำ เพราะเครื่องกรองแบบถังทรายจะมีพื้นที่ผิวของการกรองที่มากและเหลี่ยมหรือมนของทรายสามารถที่จะดักจับเมือกของพวกตะไคร่น้ำได้ดี โดยทั่วไปใช้ชั้นทรายและกรวดที่มีขนาดต่าง ๆ กันเรียงหลายชั้น เพื่อให้น้ำซึมผ่านและกรองในแต่ละชั้น ขนาดเม็ดทรายหรือวัสดุกรองที่นิยมใช้คือ 0.5, 0.75 และ 1 มม. กรวดหรือเศษหินจากภูเขาไฟก็เป็นวัสดุที่เหมาะสมนำมาเป็นวัสดุกรองได้อย่างดี ความลึกของชั้นกรองสามารถผันแปรจาก 30 ซม. ถึง 1.50 เมตร แต่ที่นิยมใช้กันมากอยู่ระหว่าง 60-80 ซม. สำหรับอัตราการไหลต่อหน่วยพื้นที่ยิ่งต่ำ การกรองก็ได้ผลดีมากยิ่งขึ้นและการใช้วัสดุกรองยิ่งละเอียด มาตรฐานของอัตราการกรองไม่ควรเกิน 2 ลิตร/ชม./ซม.2 สำหรับทรายที่มีขนาด 0.4-0.6 มม.และความหนาของชั้นทรายประมาณ 75 ซม. แต่ในปัจจุบันนิยมใช้อัตราที่สูงกว่าคือ ประมาณ 4-6 ลิตร/ชม./ซม.2 โดยใช้กับทรายหยาบ ซึ่งมีชั้นความหนาประมาณ 60-70 ซม. การทำความสะอาดทำได้โดยการอัดน้ำกลับทาง น้ำจะไหลย้อนกลับล้างจากก้นถังขึ้นไปยังข้างบน แล้วเปิดเอาตะกอนออกทิ้งไป สำหรับความถี่ของการล้างทำความสะอาดจะผันแปรจากช่วงสั้น ๆ 2-3 ชม. ถึงทุก ๆ วัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำและสารกรองที่ใช้
                              5.4 เครื่องกรองแบบถังไซโคลน เป็นเครื่องกรองน้ำที่ใช้ในการแยกทรายออกจากน้ำ ในกรณีที่น้ำมีเม็ดทรายปะปนอยู่ รูปร่างของเครื่องกรองมีลักษณะคล้าย ๆ กรวยคว่ำลง โดยให้น้ำไหลเข้าด้านข้าง เกิดการไหลเหวี่ยงวน ส่วนทางน้ำออกอยู่ข้างบน หลักการทำงานของเครื่องกรองชนิดนี้ คือน้ำจะเข้าทางด้านข้างและไหลวน จนเกิดการเคลื่อนที่เป็นแบบน้ำเหวี่ยงวนสองชนิดขึ้นภายในตัวถังกรอง คือกระแสน้ำวนหลัก จะเหวี่ยงวนนำพาอนุภาคของของแข็งกระทบกับผนังของเครื่องกรอง และตกลงข้างล่างเพื่อระบายทิ้ง และกระแสน้ำวนรองจะยกน้ำสะอาดขึ้นสู่ทางออกข้างบน เครื่องกรองชนิดนี้ถึงแม้มีขนาดเล็ก ก็สามารถกรองทรายขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถจะขจัดพวกอินทรียวัตถุ หรืออนุภาพที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำได้ จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับเครื่องกรองน้ำชนิดอื่น ๆ

                6. อุปกรณ์อื่นๆ
                                 6.1 เกวัดแรงดันน้ำ สำหรับวัดแรงดันของน้ำภายในระบบอาจจะติดตั้งได้หลายจุดเช่น หน้าและหลังเครื่องกรองน้ำ ที่เครื่องสูบน้ำและอาจจะติดตั้งที่ท่อรองประธานในแปลงพืชอีกก็ได้
                                6.2 มิเตอร์วัดอัตราการไหลของน้ำ สำหรับดูปริมาณน้ำที่จ่ายเข้าแปลงพืชว่ามีปริมาณตามที่กำหนดไว้หรือไม่
                               6.3 วาล์วระบายอากาศ สำหรับระบายอากาศออกจากระบบท่อเพื่อให้น้ำไหลผ่านท่อได้สะดวกขึ้น
                                6.4 วาล์วกันน้ำไหลย้อนกลับ
                                6.5 เครื่องผสมปุ๋ยเคมีร่วมกับระบบให้น้ำพืช
                                6.6 วาล์วไฟฟ้า
                                6.7 เครื่องควบคุมการให้น้ำพืชแบบอัตโนมัติ

                3. เครื่องมือตัดแต่งกิ่งและขยายพันธุ์พืช
                เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร หมายถึง สิ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเกษตรกรให้สามารถทำงานได้มากขึ้น
เครื่องมือเครื่องใช้ในการตัดแต่งและขยายพันธุ์พืช แบ่งได้ดังนี้
                1.มีด มีดที่นิยมใช้งานเกษตรมี 3 ชนิด คือมีดตอนกิ่ง มีดติดตา และคัตเตอร์
การเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานและคำนึงความปลอดภัยด้วย
                  - มีดตอนกิ่ง มีลักษณะปลายแหลม ปลายโค้งเล็กน้อย  ใช้สำหรับควั่นกิ่งที่ต้องการจะตอน
                  - มีดติดตา    มีลักษณะปลายแหลม  ใช้สำหรับเฉือนหรือปาดแผ่นตา  และเตรียมต้นตอสำหรับการติดตา ต่อกิ่งและทาบกิ่ง  มีดติดตาต้องคมมาก  มิฉะนั้นจะทำให้แผลช้ำ  ส่วนท้ายด้ามมีดใช้ในการแงะเผยอเปลือก หรือลอกเปลือกออก ทำจากเขาของสัตว์  หรือทองเหลือง
                  -คัตเตอร์    ปัจจุบันนิยมใช้กันมาก  ราคาถูก ใบมีดคมมากไม่ต้องเสียเวลาลับใบมีด  นำมาใช้ในการขยายพันธุ์พืช  ทำให้พืชไม่ช้ำ

                2. กรรไกรตัดกิ่งไม้  ใช้สำหรับตัดแต่งกิ่งไม้ขนาดเล็ก  ตัดกิ่งพันธุ์  กิ่งตอน ฯลฯ
เวลาใช้ต้องปลดที่ล็อกก่อน  เมื่อใช้เสร็จทำความสะอาด เช็ดให้แห้ง ปิดล็อกใบมีด และเก็บเข้าที่

                3. เลื่อยตัดกิ่ง มีลักษณะปลายโค้งเรียว ฟันเลื่อยห่างๆ มีขนาดเล็ก ใช้สำหรับตัดกิ่งหรือแต่งกิ่งไม้ขนาดใหญ่

 การทำความสะอาดและเก็บรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
                อุปกรณ์ต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น  ส่วนใหญ่ทำมาจากโลหะ เมื่อใช้เสร็จต้องทำความสะอาดเช็ดยางไม้ออกให้หมดด้วยน้ำมัน  แล้วจึงเช็ดให้แง  ทาน้ำมันกันสนิมและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย

 การซ่อมแซมเครื่องใช้ในการขยายพันธุ์พืช
                 1.  มีดทุกชนิด   หมั่นลับให้คมอยู่เสมอ  วิธีลับใบมีดให้ใบมีดทำมุมกับหินลับมีดประมาณ  15 องศา  ขณะลับใบมีดควรหยอดน้ำ  เมื่อลับด้านหนึ่งคม ให้กลับอีกด้านหนึ่งมาลับเช่นเดียวกัน ด้ามมีด ควรดูแลซ่อม ตอกหมุดให้ด้ามแน่นเมื่อใช้จะจับได้ถนัดมือ
                2.  กรรไกรตัดกิ่งไม้  หมั่นตรวจดูสปริงและนอต  เพราะมักจะชำรุดได้ง่าย
 3.  เลื่อยตัดกิ่งไม้  หมั่นลับฟันเลื่อยให้คมด้วยตะไบที่มีขนาดเหมาะสม  และดัดฟันเลื่อยให้ตรง ตรวจด้ามเลื่อย นอตที่ยึดกับใบเลื่อยให้แน่นอยู่เสมอ

หลักในการใช้เครื่องมือในการปลูกพืชผัก
                1. รู้จัก และเลือกใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับการใช้งาน
                2. รู้วิธีการใช้เครื่องมือและใช้อย่างถูกต้อง ใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ประมาท
                3.ไม่ควรใช้เครื่องมือเล่นหยอกล้อกับเพื่อน เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุ และเกิดอันตรายได้
                4. ก่อนใช้เครื่องมือใดๆ ก็ตาม ต้องตรวจดูสภาพของเครื่องมือให้พร้อมที่จะใช้งาน ถ้าเครื่องมือชำรุดต้องซ่อมให้เรียบร้อยก่อนนำไปใช้
                5. หลังใช้เครื่องมือเสร็จแล้ว ควรตรวจสอบว่า เครื่องมือชำรุดหรือไม่ถ้าชำรุดให้ซ่อมแซมแล้วจึงทำความสะอาด จัดเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อยมิดชิด เพื่อสะดวกและปลอดภัยต่อการหยิบใช้งาน

วิธีการเก็บรักษาเครื่องมือ
                1. ทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งหลังจากเลิกใช้งานเสร็จแล้วก่อนนำไปเก็บ
                2. เครื่องมือบางชนิดที่เปื้อนมากให้ล้างทำความสะอาดแล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดให้สะอาด
                3. เครื่องมือที่เป็นโลหะ เช่น มีด จอบ เสียม กรรไกร ต้องทำความสะอาด
แล้วทาด้วยน้ำมันเพื่อป้องกันการเป็นสนิมตรงบริเวณที่เป็นโลหะ
                 4. ถ้าเครื่องมือชิ้นใดชำรุดต้องซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี ถ้าใช้ไม่ได้ควรแยกเก็บต่างหาก
                 5. ไม่ควรทิ้งเครื่องมือตากแดดตากฝน เพราะจะทำให้เป็นสนิมได้ง่ายและจะทำให้ผุกร่อนเร็วขึ้น
                6. เครื่องมือที่มีคม เช่น มีด กรรไกร จอบ เมื่อใช้ไปนานๆ ความคมจะลดลง
ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จึงควรลับให้คมอยู่เสมอ ดังนี้
                                -เครื่องมือขนาดเล็ก เช่น มีด กรรไกร ให้ลับกับหินลับมีด
                                -เครื่องมือขนาดใหญ่ เช่น จอบ พลั่ว เสียมให้ลับโดยใช้
                ตะไบถูตรงส่วนคม เสร็จแล้วทำความสะอาดเครื่องมือที่ลับ แล้วทาน้ำมันเพื่อกันสนิม จากนั้น เก็บเครื่องมือให้เรียบร้อย
                 7. ควรเก็บเครื่องมือเครื่องใช้อย่างเป็นระเบียบ ถ้าเป็นของมีคม เช่น จอบ  พลั่ว ควรหันด้านคมเข้าข้างใน เพราะอาจเกิดอันตรายได้

                ดังนั้นการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร ควรพิจารณาถึงวิธีการใช้งานที่ง่าย เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า การพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร ควรเริ่มจากการพัฒนาอุปกรณ์ที่ไม่ใช้ทฤษฎีที่ยุ่งยาก สามารถให้คนในท้องถิ่นซึ่งมีการศึกษาค่อนข้างต่ำสามารถเข้าใจวิธีการใช้งาน ตลอดจนควบคุมการทำงาน นอกจากนั้นอาจสามารถซ่อมแซม และบำรุงรักษาได้ง่ายอีกด้วย โดยทั่วไปการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร จำเป็นต้องให้สอดคล้องกับสภาพอาชีพ ความรู้ ฝีมือแรงงาน เศรษฐกิจ และประการสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การมีงานทำของประชากรในท้องถิ่นนั้นด้วย ฉะนั้นเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตในภาคเกษตรควรคำนึงถึงองค์ประกอบดังนี้
                - ใช้เงินทุนน้อย เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรค่อนข้างต่ำ เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรต้องมีราคาถูก อยู่ในฐานะที่เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรจะร่วมกันลงทุนได้ ซึ่งขณะนี้ได้มี เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่คนไทยพัฒนาขึ้นใช้ในท้องถิ่น เป็นที่รู้จักกันดี และใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ได้แก่ ควายเหล็ก เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก รถเกษตรหรือรถอีแต๋น
                - ใช้วัสดุในท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปสามารถพัฒนาอุปกรณ์นั้น ๆ ขึ้นใช้ในท้องถิ่นซึ่งจะทำให้ราคาต้นทุนการผลิตนั้น ๆ ต่ำลงด้วย
                - ใช้แรงงานและฝีมือของคนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการเสริมสร้าง และสนับสนุนเศรษฐกิจของประชากรในท้องถิ่น
                - ใช้งานง่ายไม่มีระบบหรือกลไกที่ยุ่งยาก เกษตรกรสามารถใช้งาน ซ่อมแซม และบำรุงรักษาได้ด้วยตนเอง
                - ใช้พลังงานธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น พลังน้ำ พลังลม จะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งาน ทำให้ต้นทุนผลิตผลต่ำลง และเป็นการประหยัดทรัพยากรของประเทศด้วย
                - มีขนาดไม่ใหญ่โต ขนาดของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร มีผลต่อการใช้งาน การลงทุน ตลอดจนการเคลื่อนย้าย เนื่องจากเกษตรกรไทยมีพื้นที่ทำกินไม่มากนัก ผลิตผลที่ได้มีจำนวนไม่มาก จึงเหมาะสำหรับใช้อุปกรณ์การผลิตขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังสามารถเคลื่อนย้ายไปใช้ในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้โดยง่าย ไม่ต้องอาศัยเครื่องผ่อนแรงในการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย